ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่บล็อกที่ให้ความรู้เรื่องปาล์มน้ำมัน

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่บล็อกที่ให้ความรู้เรื่องปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะเรื่องการจัดการและการดูแลสวนปาล์มน้ำมัน ครับ เนื้อหาจะพูดกันตรงๆ ไม่มีเรื่องการค้าแอบแฝงครับ แม้เจ้าของบล็อกจะทำงานในบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ปาล์มน้ำมันก็ตาม

วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การจัดการสวนปาล์มน้ำมันหลังน้ำท่วม

การจัดการสวนปาล์มน้ำมันหลังน้ำท่วม

ต้องขอแบ่งตามสภาพแบบเข้าใจง่ายๆ ดังนี้ครับ

1. พื้นที่ทั่วไป

ในพื้นที่ทั่วไปหากน้ำท่วมระยะสั้นๆ ไม่เกินสองสัปดาห์ เราไม่ต้องทำอะไรเป็นพิเศษ หลังจากชะงักช่วงสั้นๆ ต้นปาล์มก็สามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติ


2. พื้นที่ทั่วไป แต่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม
พื้นที่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งที่อาจมีสารเคมีแปลกปลอมมากับน้ำด้วย เช่น โรงงานผลิตน้ำส้มฆ่ายาง โรงงานผลิตแบตเตอรี่ เป็นต้น อาจมีกำมะถัน หรือกรด ละลายมากับน้ำได้ สภาพนี้จะเป็นน้ำกรด ความเข้มข้นขึ้นกับปริมาณสารเคมีที่ละลาย หลังน้ำลดต้องรีบใส่ปูนขาวโดยเร็ว

ส่วนพื้นที่ที่อาจมีสารเคมีประเภทด่าง ก็ต้องใช้น้ำส้มสายชูละลายน้ำไปรดรอบทรงพุ่มเป็นต้น

พื้นที่ประเภทนี้ ทางที่ดีควรขอให้ "หมอดินอาสา" ช่วยวัดความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้ก่อน จะได้ประเมินได้ง่ายขึ้น

3. พื้นที่ลุ่มลึก หรือบางปีที่น้ำท่วมขังนาน
หลังน้ำลดสัก 1-2 สัปดาห์ ให้หาปูนขาว หรือโดโลไมต์ มาโรยบางๆ รอบทรงพุ่ม เพื่อปรับสภาพดินก่อน จากนั้นถัดไปราว 2 สัปดาห์ ถ้าเป็นไปได้ให้หาขี้วัว หรือปุ๋ยหมักที่ได้ที่แล้ว ถ้าเป็นขี้ไก่หรือขี้หมู หรือสัตว์อื่นๆ ก็ต้องเปื่อยดีแล้ว จึงนำมาใส่ โดยโรยรอบทรุงพุ่มให้พ้นปลายใบไปเล็กน้อย ถัดไปอีก 2-3 สัปดาห์จึงไล่ปุ๋ยเคมีได้ แต่ให้ใส่ทีละน้อยและเพิ่มความถี่แทน เช่น เดือนละครั้ง หรือ 2 เดือนครั้ง จากนั้นจึงไล่ปุ๋ยตามปกติ
*** ห้ามเร่งด้วยการใส่ปุ๋ยเคมีมากกว่าปกตินะครับ ไม่งั้นอาจเสียหายรุนแรง หรือตายเรียบทั้งสวนเลย

นอกจากนั้นเรายังแบ่งออกได้เป็นดังนี้

3.1 ปาล์มแรกปลูก หรือปาล์มอายุน้อยยังไม่ให้ผลผลิต

แบ่งย่อยตามลักษณะการจัดการ
- ก่อนน้ำท่วมไม่ได้ใส่ปุ๋ยเคมี โอกาสต้นปาล์มจะรอดมีอยู่มากครับ เพียงแต่จะชะงักนาน จนกว่าระบบรากจะสร้างได้เต็มที่แล้ว ต้นปาล์มก็จะกลับมาเจริญเติบโตได้ตามปกติ

- ก่อนน้ำท่วมใส่ปุ๋ยเคมี ยิ่งกระชั้นชิดก่อนน้ำมท่วมเท่่าไหร่ โอกาสรอดยิ่งน้อยครับ

อย่างไรก็ตาม อย่าด่วนสรุปว่าต้นปาล์มเราไม่รอด ให้สังเกตจากใบปาล์มก่อน ดังนี้
- ใบแห้งหมดทั้งต้น และโคนต้นเปื่อยหมด อันนี้ถึงรอดก็คงโตช้าแล้ว ควรจะปลูกทดแทน
- ใบแห้งบางส่วน แต่ยังมีใบสีเขียวๆ ให้เห็น โคนต้นก็ยังแข็ง ลักษณะนี้โอกาสรอดสูงมาก หากยอดเน่าเปื่อย(ส่วนใหญ่) ก็ให้ถอดยอดที่เน่าออก เอาปูนขาวโรยบางๆ ลงไปในยอด อาจใช้เวลาหลายเดือนกว่ายอดใหม่จะโผล่ออกมาให้เห็น ให้ใจเย็นๆ ถ้ายังไม่แห้งหมดทั้งต้นโอกาสรอดยังมี
- ส่วนถ้ายังเขียวสดชื่นก็ไม่น่ากังวล ให้จัดการตามที่แนะนำข้างต้นครับ

3.2 ปาล์มเริ่มให้ผลผลิต แต่ืทะลายยังไม่พ้นน้ำ หรือทะลายพ้นน้ำบางส่วน
ให้แต่งดอกและทะลายที่แช่น้ำแล้วดอกหรือผลเน่าออกให้หมด เว้นไว้แต่ดอกที่สมบูรณ์ หากมีใบที่แห้งจนถึงโคนทางใบก็สามารถแต่งทางที่เสียหายทิ้งได้ ถ้าโคนทางใบยังสดอยู่ก็เว้นเอาไว้
หลังจากนั้นก็ทำตามขั้นตอนที่กล่าวข้างตัน

3.3 ปาล์มที่ทะลายสูงกว่าระดับน้ำ
หากทะลายไม่เสียหาย ไม่มีทีท่าว่าจะผลปาล์มจะลีบแห้ง ก็ทำตามขั้นตอนที่กล่าวข้างตันได้เลย


หลังผ่านวิกฤติน้ำท่วม เราต้องใจเย็น รอให้ต้นปาล์มสร้างระบบรากให้เต็มที่ก่อน จากนั้นต้นจะฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ แ่ต่ความเสียหายต่อผลผลิตจะยาวนานเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับระดับความเสียหายครับ ดังนั้น ไม่มีปุ๋ยวิเศษชนิดไหนจะช่วยเร่งต้นเร่งผลผลิตให้ท่านได้ อย่าได้หลงเชื่อคำโฆษณาทั้งหลายโดยง่าย ต้นปาล์มต้องสร้างระบบรากและต้นแข็งแรงเต็มที่ก่อน จึงจะกลับมาให้ผลผลิตได้ตามปกติ หลังจากทำตามขั้นตอนที่กล่าวมาแล้ว ก็รอเวลาเท่านั้นเองครับ ความใจร้อนมีแต่จะทำให้เสียเงินเพิ่มโดยใช่เหตุ