ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่บล็อกที่ให้ความรู้เรื่องปาล์มน้ำมัน

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่บล็อกที่ให้ความรู้เรื่องปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะเรื่องการจัดการและการดูแลสวนปาล์มน้ำมัน ครับ เนื้อหาจะพูดกันตรงๆ ไม่มีเรื่องการค้าแอบแฝงครับ แม้เจ้าของบล็อกจะทำงานในบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ปาล์มน้ำมันก็ตาม

วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ถ้าคิดจะปลูกปาล์มน้ำมัน ตอนที่ 1 “ปาล์มน้ำมัน” ถ้าเป็นเมื่อสิบปีที่แล้วหลายคนคงไม่ค่อยคุ้น แต่ ณ วันนี้ ด้วยกระแสความนิยม ข่าวสารทางสื่อต่างๆและสังคมออนไลน์เชื่อว่าคงจะเคยผ่านหูผ่านตามาบ้างแล้ว โดยเฉพาะปี 2554 ตอนที่น้ำมันปาล์มขาดตลาด ทำเอาชั้นวางของหลายๆ ห้างว่างไปตามๆ กัน ชาวสวนแถบภาคกลางก็เริ่มสนใจปลูกปาล์มกันมากขึ้นเมื่อสวนส้มแถบปทุมธานีมีปัญหาและมีผู้ริเริ่มปลูกปาล์มแล้วได้ผลพอสมควร ทำเอากระแสแห่ปลูกปาล์มระบาดไปทั่ว แม้กระทั่งจังหวัดเชียงรายถึงกับมีสหกรณ์ผู้ปลูกปาล์มน้ำมันกันเลยทีเดียว แต่จะมีสักกี่คนที่เอะใจกัน ว่าพื้นที่บางแห่งเหมาะสมที่จะปลูกปาล์มน้ำมันหรือไม่ ปลูกแล้วจะได้ผลผลิต มีรายได้ที่คุ้มค่าจริงหรือเปล่า ถ้าจะบอกกันตรงๆ ว่า ณ วันนี้คำตอบยังไม่ชัดเจน ยังไม่มีใครกล้าฟันธง แค่อ้อมๆ แอ้มๆ ไปว่า พอได้ พอไหว แต่จะดีจริงหรือไม่ ค่อยว่ากัน ดังนั้น เรามาทำความรู้จักปาล์มน้ำมันกันให้มากขึ้น เรามาทำความเข้าใจกันอีกสักนิดดีไหม อย่างน้อยก็ดีกว่าปล่อยไปตามยถากรรม ทำตามกระแส แล้วแต่โชคช่วย นอกเหนือไปจากฝีมือ ความพยายาม และเงินทุน ที่ต้องสูญเสียไป ปาล์มน้ำมัน มีถิ่นกำเนิดอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร แถบอเมริกากลางและอาฟริกา ดังนั้น ประการแรก ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ชอบอากาศร้อนชื้น อุณหภูมิประมาณ 20 องศาเซลเซียส ลงมาเมื่อไหร่ จะอยู่ในสภาวะคล้ายๆ สัตว์จำศีลทันที คือ กระบวนการสังเคราะห์แสงเกือบจะหยุดทำงานแม้จะได้แสงแดดเพียงพอก็ตาม แม้ต้นปาล์มไม่ตายแต่ก็แทบไม่โต อย่างที่พอจะทราบกันบ้างแล้วว่า 1 ทางใบ คือ 1 ช่อดอก จะดอกตัวผู้หรือตัวเมีย ก็ขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ อีกหลายประการ ดังนั้นเมื่อปาล์มไม่โต คือ ไม่มีการสร้างทางใบใหม่ นั่นแปลว่าผลผลิตจะน้อยกว่าพื้นที่อากาศอุ่นกว่านี้แน่นอน นี่คือ คำถามแรกที่ผมอยากถามย้อนกลับไปยังผู้สนใจจะปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อตัดทะลายขาย ว่าท่านรับข้อนี้ได้หรือไม่ ย้ำนะครับ ว่า ณ วันนี้ ในที่อากาศเย็นๆ ทั้งหลาย ไม่มีใครบอกได้ชัดเจนว่าผลผลิตได้กันเท่าไหร่ คุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่ อีกไม่นานเกินรอคงได้คำตอบ ประการที่ 2 เนื่องจาก ปาล์มชอบอากาศชื้น และเป็นพืชที่ให้ผลผลิตสูง ดังนั้นจึงต้องการน้ำและปุ๋ยมาก เพื่อไปเสริมสร้างลำต้น ทางใบ และทะลาย ถ้าน้ำหรือปุ๋ยไม่พอปาล์มจะพยายามรักษาต้นด้วยการตัดน้ำและอาหารที่ไปเลี้ยงทะลาย นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมพอแล้งจัดทะลายผลลีบ หรือฝ่อไป ประการที่ 3 เนื่องจากสร้างผลผลิตสูง ปาล์มน้ำมันจึงมีการสังเคราะห์แสงสูงมาก เคยมีผู้วัดอัตราการคายน้ำเพื่อเปรียบเทียบอัตราสังเคราะห์แสงพบว่า สวนปาล์มสามารถสร้างความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่ได้มากกว่าป่าดิบชื้นเป็นเท่าตัวทีเดียว เพราะมีการคายน้ำจากกระบวนการสังเคราะห์แสงมากกว่านั่นเอง ดังนั้นแสงแดดมีความจำเป็นมาก สำหรับประเทศไทยส่วนใหญ่แล้วมีแสดงแดดพอเพียงแน่นอน แต่คนปลูกมักทำให้ปาล์มขาดแสงแดด เพราะชอบปลูกชิดเพื่อต้องการจำนวนต้นมากๆ ผลก็คือ ต้นปาล์มได้รับแสดงน้อยต้องแย่งกันสูง ทำให้ต้นสูงเร็ว ผลผลิตน้อยลง ทำลายเล็กลง เพราะสังเคราะห์แสงได้น้อยลงนั่นเอง ดังนั้นปลูกให้ห่างเอาไว้ อย่างที่โบราณบอกว่าดินเลวปลูกถี่ ดินดีปลูกห่างนั่นแหละครับ เช่น ปาล์มที่นำเข้าจากต่างประเทศหลายพันธุ์พบว่า ระยะปลูกที่แนะนำ ต้องบวกเพิ่มอีกราว 1 เมตร จึงจะเป็นระยะปลูกที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย เกษตรกรหลายรายที่มีประสบการณ์ในจังหวัดกระบี่ที่ดินอุดมสมบูรณ์ดี เขาปลูกห่างถึง 13 เมตร เลยทีเดียว เขาบอกปลูก 10 เมตร กับ 13 เมตร ได้ผลผลิตต่อไร่ในแต่ละปี พอๆ กัน เขาขอปลูกห่างๆ ดีกว่า ดูแลน้อยกว่า รายได้เท่ากัน ที่สำคัญต้นปาล์มสูงช้ากว่า ประการที่ 4 เมื่อให้ลูกมาก คือ ให้ทะลายมาก ดังนั้นก็ต้องกินปุ๋ยมากด้วย ถ้าใส่ปุ๋ยน้อยเกินไป หรือใส่ไม่ถูกสัดส่วน แรกๆ ผลปาล์มในทะลายปลายๆ รอบ ผลจะเล็กลง ถ้ายังไม่แก้ไข ต่อไปผลปาล์มจะลีบฝ่อมากขึ้น ที่ชาวบ้านชอบเรียกว่า เป็นขนเม่น นั่นแหละครับ แล้วก็ชอบโทษว่าพันธุ์ไม่ดี คือทะลายที่ผลลีบฝ่อ มีสาเหตุหลักดังนี้ 4.1 การคัดต้นกล้า ปาล์มน้ำมันเป็นพืชลูกดก ทะลายหนึ่งอาจมีผลปาล์มได้ตังแต่ หลายร้อยจน ถึง 2000 ลูก เลยทีเดียว และด้วยความเป็นพืชลูกผสม หรือพืชลูกครึ่ง ดังนั้นต้นกล้าจะมีลักษณะไม่พึงประสงค์ติดมาเยอะ จำเป็นต้องคัดทิ้งต้นผิดปกติเหล่านี้ทิ้ง ตามหลักวิชาการ ต้องคัดทิ้งกันราวร้อยละ 15-20 เลยทีเดียว แต่เราอาจเจอข้อยกเว้นดังนี้ - ต้นกล้า หลงคัดมา คือเก่งแค่ไหนเวลาคัดทิ้งต้นกล้าผิดปกติก็มีอากาศพลาดได้ร้อยละ 5 เป็นมาตรฐานสากลครับ - คนคัดไม่เก่ง คัดไม่เป็น ไม่คัดให้เข้มงวด หรือเจตนาคัดทิ้งแต่ต้นที่ดูไม่ได้จริงๆ พวกนี้ต้นผิดปกติก็จะติดมาในแปลงปลูกของเรามากขึ้น - ไม่มีการคัดกล้าเลย ประเภทบังคับว่าถ้าซื้อ ต้องเอาในแถวนั้นแถวนี้ อาจมีต้นผิดปกติ ติดมาในแปลงปลูกได้ถึง ร้อยละ 20 - รวมดาว คือแปลงเพาะบางแห่งโกงชาวบ้าน ด้วยการเอาต้นกล้าที่คัดทิ้ง แต่หน้าตาพอดูได้มารวมๆ กัน ให้ดูเหมือนต้นกล้าสม่ำเสมอ วิธีนี้ทำให้เราแยกแยะไม่ออก ถ้าเจอแบบนี้แล้วแต่ระดับความโชคร้ายของผู้ซื้อ ผมเคยเจอแปลงปลูกอยู่ 2-3 ราย ที่โดนโกงแบบนี้ ทั้งแปลงมีต้นที่พอดูได้อยู่แค่ 2-3 ต้น เจ้าของแปลงน้ำตาตกใน ดังนั้นเลือกซื้อจากแปลงเพาะที่เชื่อถือได้เอาไว้ก่อนนะครับ 4.2 สภาพแวดล้อมในแปลงปลูก ทั้งดิน น้ำ และอากาศ ล้วนแต่มีผลทั้งสิ้น ทั้งในแง่การเจริญเติบโต และการให้ผลผลิต - ดิน ถ้าดินแน่น ดินเสื่อม ระบายน้ำไม่ดี น้ำซึมผ่านไม่ดี ปาล์มจะโตช้า ไม่ดก และทำลายไม่ใหญ่ ในช่วงแล้งทะลายจะลีบฝ่อได้ง่ายมาก หรือพื้นที่ดินทรายจัด ขาดน้ำเร็วก็จะเจอปัญหาเช่นเดียวกัน - น้ำ น้ำน้อยเกินไป ไม่พอยาไส้ ผลปาล์มลีบฝ่อแน่นอนครับ ขาดทั้งน้ำทั้งปุ๋ย เพราะพืชทุกชนิดต้องอาศัยน้ำละลายปุ๋ยก่อนจึงจะกินปุ๋ยได้ครับ พื้นที่ฝนทิ้งช่วงนานกว่า 3 เดือนขึ้นไป จึงควรหาทางรดน้ำให้ได้ครับ แล้วแต่ความเหมาะสมของพื้นที่ แหล่งน้ำและเงินทุน - อากาศ นี่ครอบคลุมหมด ทั้งลมที่ไม่แรงเกินไป เพราะถ้าลำต้นบริเวณยอดหักต้นปาล์มตายแน่นอน นอกจากที่พูดถึงไปแล้วในตอนต้น หากอากาศแปรปรวนมาก เช่น แล้งจัด ฝนตกหนักต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ใส่ปุ๋ยไม่ได้ก็มีผลกับทะลายและผลปาล์ม และความดกในอีกสามปีข้างหน้าลดลงดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น 4.3 ใส่ปุ๋ยไม่เพียงพอ หรือใส่ผิดสัดส่วนที่ปาล์มต้องการ นี่คือประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่สุดสำหรับบ้านเรา หากเราเลือกปลูกในพื้นที่เหมาะสม ปุ๋ยเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุด และเป็นเรื่องที่อธิบายได้ยุ่งยากทีสุดเรื่องหนึ่ง เรามาคิดกันแบบง่ายๆ ดูนะครับ ร่างกายเราทุกส่วนตั้งแต่เส้นผมจรดปลายเล็บเท้าก็ล้วนแล้วแต่สร้างขึ้นจากสารอาหารทั้งสิ้น(ไม่นับประเภทต่อผม ต่อเล็บนะครับอันนั่นเป็นอุปกรณ์เสริมความงาม 555) ต้นไม้ก็เช่นเดียวกัน ทุกชิ้นส่วนตั้งแต่ปลายยอดลงมาจนถึงปลายรากสร้างจากสารอาหารที่ได้เราเรียกว่าปุ๋ยที่ผ่านการสังเคราะห์แสงทั้งสิ้น ยิ่งปาล์มน้ำมันซึ่งให้ทะลายมากยิ่งต้องใช้ปุ๋ยมากเป็นเงาตามตัว การใส่ปุ๋ยอย่างถูกต้องจึงจำเป็นมาก ไม้ผลก็เป็นทำนองเดียวกันครับ แต่เนื่องจากมีการแต่งลูกออกไปบ้าง ดังนั้นจึงมักมองไม่เป็นความสำคัญของการใช้ปุ๋ยให้ถูกสัดส่วนกันเท่าไหร่ ปุ๋ยบางยี่ห้อเขาทำตลาดไว้ดีทำให้ชาวบ้านพลอยยึดติดกับปุ๋ยสูตรสำเร็จทั้งหลาย ขนาดที่ว่าถ้าไม่ใส่ยี่ห้อนี้ถึงกับนอนไม่หลับกันทีเดียว โปรดระลึกเสมอว่าปาล์มต้องการปุ๋ยโพแทสเซียมในปริมาณสูงมาก และจำเป็นต้องใส่ตั้งแต่แรกปลูกไปจนถึงก่อนโค่นเลย ใครบอกว่าสามปีแรกยังไม่เอาลูกไม่ต้องใส่นี่ผิดถนัดครับ นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่หลายคนบอกว่าใส่ปุ๋ยดี ใส่ปุ๋ยมาก แต่ผลผลิตไม่ดี เอาไว้วันหลังจะมาเล่าให้ฟังเรื่องปุ๋ยแบบค่อนข้างละเอียดอีกครั้ง เรื่องมันยาวครับ เผด็จ เลติกุล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น