ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่บล็อกที่ให้ความรู้เรื่องปาล์มน้ำมัน

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่บล็อกที่ให้ความรู้เรื่องปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะเรื่องการจัดการและการดูแลสวนปาล์มน้ำมัน ครับ เนื้อหาจะพูดกันตรงๆ ไม่มีเรื่องการค้าแอบแฝงครับ แม้เจ้าของบล็อกจะทำงานในบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ปาล์มน้ำมันก็ตาม

วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2552

เคล็ดลับการจัดการสวนปาล์มน้ำมัน

เคล็ดลับการจัดการสวนปาล์มน้ำมัน

ปัจจัยสำเร็จในการปลูกปาล์มน้ำมัน
1. ดิน สามารถปรับปรุงได้ แต่ต้องใช้เวลา
2. น้ำ สามารถจัดการได้
3. แสงแดด อุณหภูมิ ความชื้นในบรรยากาศและสภาวะแวดล้อมอื่นๆ ไม่สามารถควบคุมได้ ต้องเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมจริงๆ การจัดการทำได้เฉพาะการจัดผังปลูกเท่านั้น
4. พันธุ์ปาล์ม ปัจจุบันต้องใช้ลูกผสมเทเนอรา (DxP) เท่านั้น
5. การดูแลรักษา มีความสำคัญที่สุดเท่ากับความสำคัญเรื่องพันธุ์

การเตรียมพื้นที่ปลูก
เจ้าของที่ต้องรู้ลักษณะดิน และลักษณะน้ำท่วมหรือน้ำท่วมขังในแปลงปลูกของตัวเองก่อนจึงจะสามารถเตรียมพื้นที่ได้เหมาะสม
- น้ำไม่ท่วม หรือท่วมขังไม่เกิน 10 วัน ปลูกได้เลย
- น้ำท่วมขังผิวดิน ไม่เกิน 20 วัน ระดับน้ำไม่สูงนัก ไถสาดร่องก็เพียงพอ
- น้ำท่วมขังนาน ระดับน้ำสูง หรือที่ลุ่มลึก ควรยกร่องให้ถูกต้อง คือ ปลูก 2 แถวต่อ 1 ร่อง จัดให้แถวปาล์มห่างจากร่องน้ำราว 2.5 เมตร

การวางผังปลูก
การวางผังปลูกแบบสามเหลี่ยมด้านเท่าหรือแบบสลับฟันปลาจะได้ต้นปาล์มเต็มเนื้อที่ที่สุด ส่วนการจัดแถวปลูกแบบสี่เหลี่ยมด้านเท่าสะดวกต่อการจัดการมากกว่า มีการแก่งแย่งอาหารและแสงแดดน้อยกว่า
1. จัดระยะระหว่างต้นในแนวทิศ เหนือ-ใต้
2. ระยะห่างระหว่างต้นขึ้นกับความเหมาะสมของพันธุ์ปาล์มแต่ละพันธุ์ (สำหรับประเทศไทยควรเพิ่มระยะจากที่แนะนำในต่างประเทศอีก 1 เมตร)

การเตรียมหลุมปลูก
ขึ้นกับความเหมาะสมของดินในแต่ละแห่ง เช่น ดินร่วนไม่จำเป็นต้องขุดหลุมกว้าง เป็นต้น รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือ ร็อกฟอสเฟต(0-3-0)

วิธีการปลูก
ตามสะดวก แต่ที่สำคัญคือห้ามกลบโคนเด็ดขาด เราสามารถป้องกันต้นล้มโดยใช้ไม้ “ม็อบ” ขัดระหว่างกาบใบกับโคนต้น การปลูกซ่อม สามารถปลูกซ่อมได้จนต้นปาล์มในแปลงปลูกอายุไม่เกิน 3 ปีเต็ม

การให้ปุ๋ย
หลัก 4 ประการเหมือนกันกับพืชทุกชนิดคือ
1. ถูกสูตร คือ เหมาะกับความต้องการของพืชแต่ละชนิด
2. ถูกที่ คือ ใส่ในบริเวณที่รากหากินอยู่หนาแน่น เพราะรากพืชแต่ละชนิดการแผ่ขยายรากแตกต่างกันไป
3. ถูกเวลา คือ ช่วงแล้ง หรือฝนตกหนักให้งดใส่ปุ๋ย
4. ถูกปริมาณ คือ กะปริมาณปุ๋ยให้เหมาะกับอายุของพืช และแบ่งใส่ให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น