ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่บล็อกที่ให้ความรู้เรื่องปาล์มน้ำมัน

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่บล็อกที่ให้ความรู้เรื่องปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะเรื่องการจัดการและการดูแลสวนปาล์มน้ำมัน ครับ เนื้อหาจะพูดกันตรงๆ ไม่มีเรื่องการค้าแอบแฝงครับ แม้เจ้าของบล็อกจะทำงานในบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ปาล์มน้ำมันก็ตาม

วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2552

เคล็ดลับการจัดการสวนปาล์มน้ำมัน

เคล็ดลับการจัดการสวนปาล์มน้ำมัน

ปัจจัยสำเร็จในการปลูกปาล์มน้ำมัน
1. ดิน สามารถปรับปรุงได้ แต่ต้องใช้เวลา
2. น้ำ สามารถจัดการได้
3. แสงแดด อุณหภูมิ ความชื้นในบรรยากาศและสภาวะแวดล้อมอื่นๆ ไม่สามารถควบคุมได้ ต้องเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมจริงๆ การจัดการทำได้เฉพาะการจัดผังปลูกเท่านั้น
4. พันธุ์ปาล์ม ปัจจุบันต้องใช้ลูกผสมเทเนอรา (DxP) เท่านั้น
5. การดูแลรักษา มีความสำคัญที่สุดเท่ากับความสำคัญเรื่องพันธุ์

การเตรียมพื้นที่ปลูก
เจ้าของที่ต้องรู้ลักษณะดิน และลักษณะน้ำท่วมหรือน้ำท่วมขังในแปลงปลูกของตัวเองก่อนจึงจะสามารถเตรียมพื้นที่ได้เหมาะสม
- น้ำไม่ท่วม หรือท่วมขังไม่เกิน 10 วัน ปลูกได้เลย
- น้ำท่วมขังผิวดิน ไม่เกิน 20 วัน ระดับน้ำไม่สูงนัก ไถสาดร่องก็เพียงพอ
- น้ำท่วมขังนาน ระดับน้ำสูง หรือที่ลุ่มลึก ควรยกร่องให้ถูกต้อง คือ ปลูก 2 แถวต่อ 1 ร่อง จัดให้แถวปาล์มห่างจากร่องน้ำราว 2.5 เมตร

การวางผังปลูก
การวางผังปลูกแบบสามเหลี่ยมด้านเท่าหรือแบบสลับฟันปลาจะได้ต้นปาล์มเต็มเนื้อที่ที่สุด ส่วนการจัดแถวปลูกแบบสี่เหลี่ยมด้านเท่าสะดวกต่อการจัดการมากกว่า มีการแก่งแย่งอาหารและแสงแดดน้อยกว่า
1. จัดระยะระหว่างต้นในแนวทิศ เหนือ-ใต้
2. ระยะห่างระหว่างต้นขึ้นกับความเหมาะสมของพันธุ์ปาล์มแต่ละพันธุ์ (สำหรับประเทศไทยควรเพิ่มระยะจากที่แนะนำในต่างประเทศอีก 1 เมตร)

การเตรียมหลุมปลูก
ขึ้นกับความเหมาะสมของดินในแต่ละแห่ง เช่น ดินร่วนไม่จำเป็นต้องขุดหลุมกว้าง เป็นต้น รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือ ร็อกฟอสเฟต(0-3-0)

วิธีการปลูก
ตามสะดวก แต่ที่สำคัญคือห้ามกลบโคนเด็ดขาด เราสามารถป้องกันต้นล้มโดยใช้ไม้ “ม็อบ” ขัดระหว่างกาบใบกับโคนต้น การปลูกซ่อม สามารถปลูกซ่อมได้จนต้นปาล์มในแปลงปลูกอายุไม่เกิน 3 ปีเต็ม

การให้ปุ๋ย
หลัก 4 ประการเหมือนกันกับพืชทุกชนิดคือ
1. ถูกสูตร คือ เหมาะกับความต้องการของพืชแต่ละชนิด
2. ถูกที่ คือ ใส่ในบริเวณที่รากหากินอยู่หนาแน่น เพราะรากพืชแต่ละชนิดการแผ่ขยายรากแตกต่างกันไป
3. ถูกเวลา คือ ช่วงแล้ง หรือฝนตกหนักให้งดใส่ปุ๋ย
4. ถูกปริมาณ คือ กะปริมาณปุ๋ยให้เหมาะกับอายุของพืช และแบ่งใส่ให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2552

การจัดการสวนปาล์มน้ำมัน

เมื่อจะปลูกปาล์มน้ำมัน คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญเรื่องพันธุ์ปาล์มน้ำมันกันมาก ในปัจจุบันหากหาข้อมูลกันมาบ้างแล้วแน่นอนว่าทุกคนมุ่งหาพันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมDxP(อ่านว่า : "ดีคูณพี" ครับ) หรือ เทเนอรา กัน แล้วแต่ว่าจะได้ยี่ห้อะไรกันมา เมื่อปลูกเสร็จก็แล้วกัน บางคนตั้งแต่ก่อนปลูกจนกระทั่งปลูกเสร็จไม่เคยเข้าสวนปาล์มตัวเองเลยสักครั้งด้วยซ้ำ ลองคิดดูแล้วกันว่าจะเอาดีได้หรือไม่

ความจริงการจัดการหรือการดูแลสวนปาล์มน้ำมันนั้นมันเริ่มตั้งแต่ก่อนปลูกแล้วละครับ
1. ปรับสภาพพื้นที่ให้พร้อมที่จะปลูกปาล์มน้ำมัน พูดหยาบๆ คือ ทำไงก็ได้ให้ระดับน้ำต่ำกว่าระดับผิวดินอย่างน้อย 50 เซนติเมตร แต่ไม่ควรเกิน 1 เมตร
2. รู้ระยะปลูกที่เหมาะสม ทุกวันนี้แนะนำกันตะพึดตะพือ คือ 9 เมตร ซ้ำยังมีหลายเห่งที่แนะนำระยะปลูกน้อยกว่า 9 เมตรด้วยซ้ำ เท่าที่สำรวจแปลงปลูกปาล์มน้ำมันมากว่า 10 ปี ในหลายจังหวัด พบว่ามีปัญหาทุกพันธุ์ เพราะระยะปลูกน้อยเกินไป ทำให้ทางใบสานกันแ่น ต้นปาล์มสูงเร็วมากและให้ผลผลิตน้อยกว่าปกติ แม้กระทั่งปาล์มทางสั้นที่แนะนำให้ปลูกระยะ 9 เมตร ก็มีปัญหา ใครสนใจผมสามารถพาไปดูได้ถึงแปลงปลูก ไม่ใช่พูดกันแต่เขาว่า เขาว่า อย่าลืมว่าปาล์มน้ำมันจะเจริญเติบโตเต็มที่ คือ ทางใบยาวเต็มที่ ทะลายใหญ่เต์มที่อย่างเร็วคือปลูกไปแล้ว 6 ปี ปัญหาว่าปลูกไป 4 ปีแรก ทางใบมันจะดูสั้นๆ ทุกพันธุ์ละครับกว่าจะรู้ตัวว่าปลูกชิด อย่างเร็ว คือ ปีที่ 6 แต่ถ้าเจ้าของไม่เอาใจใส่ก็ไม่มีทางรู้เลย จนกว่าจะถึงปีที่ 9 หรือ 10 ที่แทบจะไม่มีีทะลายให้เชยชม นี่คือความเป็นจริงในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง เพราะขายกันแล้วก็แล้วกัน ไม่ได้ตามไปดูในแปลงปลูกให้ จึงแนะนำว่าควรปลูกระยะ 10 เมตร หากดินดีอาจต้องใช้ระยะห่างมากกว่านี้ สูงสุดทีี่เคยเห็นคนกระบี่ปลูกกันคือ 13 เมตร ครับ อ้อ ปลูกแล้วไม่ต้องกังวลนะครับ ผมเทียบจากพันธุ์หนองเป็ดเทเนอรา ปลูกระยะ 9 เมตร เทียบกับกับระยะ 10 เมตร สภาพแวดล้อมใกล้เคียงกัน ดูแลดีด้วยกัน เมื่ออายุปาล์ม 6 ปีขึ้นไป เนื้อที่ปลูกเท่ากันตัดผลผลิตได้เท่ากันครับ แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ ระยะ 10 เมตร ใส่ปุ๋ยต่่อไร่น้อยกว่า ดูแลต้นน้อยกว่า แต่งทางน้อยกว่า และต้นปาล์มเมื่ออายุ 10 ปีนับจากวันลงปลูก มีส่วนสูงต่างกัน ประมาณ 1 - 1.5 เมตร ครับ นั่นแปลว่าแปลงที่ปลูกระยะ 9 เมตร ต้องโค่นก่อนแน่นอน
3. ปรับสภาพดินด้วยครับ ด้วยการใช้ปุ๋ยคอก เช่น มูลโค มูลไก่ มูลสุกร เป็นต้น หรือ ปุ๋ยหมัก หากต้องต้องซื้อตีว่ากิโลละไม่เกิน 8 บาท นี่ราคาพอรับได้ครับ ต้องปรับสภาพดินทุกปีครับ ส่วนธาตุอาหารหลัก ยังคงต้องพึ่งปุ๋ยเคมีเป็นหลักครับ เนื่องจากปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ออกลูกมากเพราะเราทำกันเชิงอุตสาหกรรม ใครคิดจะใส่ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกล้วนๆ ต้องใส่ต้นละประมาณ 1 ตัน/ปี ครับ จึงจะเพียงพอ คิดดูแล้วกันครับว่าต้นทุนจะสูงขนาดไหน
4. ใส่ปุ๋ยให้ถูกต้อง ตั้งแต่ถูกส่วน ถูกเวลา ถูกที่ หลักพื้นฐานคือ แบ่งใส่น้อยแต่ใส่บ่อยๆ จะดีกว่านานๆ ใส่แต่ใส่หนักๆ ครับ
- ถูกที่ การใส่ปุ๋ยที่ถูกต้องสำหรับปาล์มน้ำมัน คือ แรกปลูกใส่ห่างจากโคนประมาณ 1 คืบ เมื่อแตกพุ่มแล้ว ให้ใส่ราวๆ 1 ใน 3 จากปลายใบเข้าไป ไม่ว่าจะปุ๋ยเคมี หรือ ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมัก ครับ เพราะนั่นเป็นจุดที่เหมาะสมที่สุด ยกเว้นปุ๋ยโบเรต หรือ โบรอน ให้ใส่ที่ปลายใบครับ อย่าใส่ที่โคน หรือกาบใบเป็นอันขาด
- ถูกเวลา คือ ช่วงแล้ง หรือ ฝนตกหนัก ก่อนน้ำท่วมราว 2 เดือน ห้ามใส่ปุ๋ยเด็ดขาด ต้องใส่ช่วงที่ดินมีความชื้นพอสมควร มีฝนตกประราย
-ถูกส่วน ต้นไม้ทุกชนิดธาตุหลักที่เราต้องใส่ให้คือ ไนโตรเจน(N) ฟอสฟอรัส(P) และโพแทสเซียม(K) โดยพืชแต่ละชนิดต้องการในสัดส่วนของ N:P:K ที่ไม่เท่ากัน สำหรับปาล์มน้ำมันที่ให้ผลผลิตแล้วต้องได้สัดส่วนประมาณ 2:1:4 ถึง 3:1:7 ขึ้นกับสภาพแวดล้อมครับ
5. การแต่งทางใบ จำง่ายๆ ว่า ปลูกไปอย่างน้อย 36 เดือน จึงจะเริ่มแต่งทางใบได้ หลักเกณฑ์ง่ายๆ คือ ทะลายล่างสุดต้องมีทางเหลืออยู่ 2 ชั้น ภาษาสวนปาล์มเขาเรียก ทางเลี้ยง(ทางใบที่ติดกับทะลายป กับทางรับ ครับ ถ้าแต่งมากว่านี้ปาล์มจะโทรม นอกจากปาล์มที่ใช้เคียวแล้วเท่านั้นครับ จึงจะดแต่งเหลือแค่ทางเลี้ยงอย่างเดียว
6. อย่าใช้สารกำจัดวัชพืชประเภทดูดซึมเด็ดขาดครับ ต้นปาล์มจะชะงักการเจริญเติบโต

โปรดระลึกเสมอว่า การจัดการและการดูแลมีความสำคัญถึงร้อยละ 80 ทีเดียวครับ จะทำให้ดี หรือเลวสุดๆ ก็ยังได้ อย่าเชื่อคำโฆษณาครับ ผลงานในแปลงปลูกเป็นตัวประจานเจ้าของและพันธุ์ปาล์มครับ

ยังมีเรื่องปลีกย่อยอีกมากครับ มีข้อสงสัยปรึกษาเราได้ครับทีมงาน บริษัท เปา-รงค์ ออยล์ปาล์ม จำกัด อีเมล์ตรงๆ ได้ที่ nhongped@gmail.com ยินดีรับใช้ ไม่คิดตังค์ครับ