ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่บล็อกที่ให้ความรู้เรื่องปาล์มน้ำมัน

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่บล็อกที่ให้ความรู้เรื่องปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะเรื่องการจัดการและการดูแลสวนปาล์มน้ำมัน ครับ เนื้อหาจะพูดกันตรงๆ ไม่มีเรื่องการค้าแอบแฝงครับ แม้เจ้าของบล็อกจะทำงานในบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ปาล์มน้ำมันก็ตาม

วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ถ้าคิดจะปลูกปาล์มน้ำมัน ตอนที่ 1 “ปาล์มน้ำมัน” ถ้าเป็นเมื่อสิบปีที่แล้วหลายคนคงไม่ค่อยคุ้น แต่ ณ วันนี้ ด้วยกระแสความนิยม ข่าวสารทางสื่อต่างๆและสังคมออนไลน์เชื่อว่าคงจะเคยผ่านหูผ่านตามาบ้างแล้ว โดยเฉพาะปี 2554 ตอนที่น้ำมันปาล์มขาดตลาด ทำเอาชั้นวางของหลายๆ ห้างว่างไปตามๆ กัน ชาวสวนแถบภาคกลางก็เริ่มสนใจปลูกปาล์มกันมากขึ้นเมื่อสวนส้มแถบปทุมธานีมีปัญหาและมีผู้ริเริ่มปลูกปาล์มแล้วได้ผลพอสมควร ทำเอากระแสแห่ปลูกปาล์มระบาดไปทั่ว แม้กระทั่งจังหวัดเชียงรายถึงกับมีสหกรณ์ผู้ปลูกปาล์มน้ำมันกันเลยทีเดียว แต่จะมีสักกี่คนที่เอะใจกัน ว่าพื้นที่บางแห่งเหมาะสมที่จะปลูกปาล์มน้ำมันหรือไม่ ปลูกแล้วจะได้ผลผลิต มีรายได้ที่คุ้มค่าจริงหรือเปล่า ถ้าจะบอกกันตรงๆ ว่า ณ วันนี้คำตอบยังไม่ชัดเจน ยังไม่มีใครกล้าฟันธง แค่อ้อมๆ แอ้มๆ ไปว่า พอได้ พอไหว แต่จะดีจริงหรือไม่ ค่อยว่ากัน ดังนั้น เรามาทำความรู้จักปาล์มน้ำมันกันให้มากขึ้น เรามาทำความเข้าใจกันอีกสักนิดดีไหม อย่างน้อยก็ดีกว่าปล่อยไปตามยถากรรม ทำตามกระแส แล้วแต่โชคช่วย นอกเหนือไปจากฝีมือ ความพยายาม และเงินทุน ที่ต้องสูญเสียไป ปาล์มน้ำมัน มีถิ่นกำเนิดอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร แถบอเมริกากลางและอาฟริกา ดังนั้น ประการแรก ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ชอบอากาศร้อนชื้น อุณหภูมิประมาณ 20 องศาเซลเซียส ลงมาเมื่อไหร่ จะอยู่ในสภาวะคล้ายๆ สัตว์จำศีลทันที คือ กระบวนการสังเคราะห์แสงเกือบจะหยุดทำงานแม้จะได้แสงแดดเพียงพอก็ตาม แม้ต้นปาล์มไม่ตายแต่ก็แทบไม่โต อย่างที่พอจะทราบกันบ้างแล้วว่า 1 ทางใบ คือ 1 ช่อดอก จะดอกตัวผู้หรือตัวเมีย ก็ขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ อีกหลายประการ ดังนั้นเมื่อปาล์มไม่โต คือ ไม่มีการสร้างทางใบใหม่ นั่นแปลว่าผลผลิตจะน้อยกว่าพื้นที่อากาศอุ่นกว่านี้แน่นอน นี่คือ คำถามแรกที่ผมอยากถามย้อนกลับไปยังผู้สนใจจะปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อตัดทะลายขาย ว่าท่านรับข้อนี้ได้หรือไม่ ย้ำนะครับ ว่า ณ วันนี้ ในที่อากาศเย็นๆ ทั้งหลาย ไม่มีใครบอกได้ชัดเจนว่าผลผลิตได้กันเท่าไหร่ คุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่ อีกไม่นานเกินรอคงได้คำตอบ ประการที่ 2 เนื่องจาก ปาล์มชอบอากาศชื้น และเป็นพืชที่ให้ผลผลิตสูง ดังนั้นจึงต้องการน้ำและปุ๋ยมาก เพื่อไปเสริมสร้างลำต้น ทางใบ และทะลาย ถ้าน้ำหรือปุ๋ยไม่พอปาล์มจะพยายามรักษาต้นด้วยการตัดน้ำและอาหารที่ไปเลี้ยงทะลาย นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมพอแล้งจัดทะลายผลลีบ หรือฝ่อไป ประการที่ 3 เนื่องจากสร้างผลผลิตสูง ปาล์มน้ำมันจึงมีการสังเคราะห์แสงสูงมาก เคยมีผู้วัดอัตราการคายน้ำเพื่อเปรียบเทียบอัตราสังเคราะห์แสงพบว่า สวนปาล์มสามารถสร้างความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่ได้มากกว่าป่าดิบชื้นเป็นเท่าตัวทีเดียว เพราะมีการคายน้ำจากกระบวนการสังเคราะห์แสงมากกว่านั่นเอง ดังนั้นแสงแดดมีความจำเป็นมาก สำหรับประเทศไทยส่วนใหญ่แล้วมีแสดงแดดพอเพียงแน่นอน แต่คนปลูกมักทำให้ปาล์มขาดแสงแดด เพราะชอบปลูกชิดเพื่อต้องการจำนวนต้นมากๆ ผลก็คือ ต้นปาล์มได้รับแสดงน้อยต้องแย่งกันสูง ทำให้ต้นสูงเร็ว ผลผลิตน้อยลง ทำลายเล็กลง เพราะสังเคราะห์แสงได้น้อยลงนั่นเอง ดังนั้นปลูกให้ห่างเอาไว้ อย่างที่โบราณบอกว่าดินเลวปลูกถี่ ดินดีปลูกห่างนั่นแหละครับ เช่น ปาล์มที่นำเข้าจากต่างประเทศหลายพันธุ์พบว่า ระยะปลูกที่แนะนำ ต้องบวกเพิ่มอีกราว 1 เมตร จึงจะเป็นระยะปลูกที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย เกษตรกรหลายรายที่มีประสบการณ์ในจังหวัดกระบี่ที่ดินอุดมสมบูรณ์ดี เขาปลูกห่างถึง 13 เมตร เลยทีเดียว เขาบอกปลูก 10 เมตร กับ 13 เมตร ได้ผลผลิตต่อไร่ในแต่ละปี พอๆ กัน เขาขอปลูกห่างๆ ดีกว่า ดูแลน้อยกว่า รายได้เท่ากัน ที่สำคัญต้นปาล์มสูงช้ากว่า ประการที่ 4 เมื่อให้ลูกมาก คือ ให้ทะลายมาก ดังนั้นก็ต้องกินปุ๋ยมากด้วย ถ้าใส่ปุ๋ยน้อยเกินไป หรือใส่ไม่ถูกสัดส่วน แรกๆ ผลปาล์มในทะลายปลายๆ รอบ ผลจะเล็กลง ถ้ายังไม่แก้ไข ต่อไปผลปาล์มจะลีบฝ่อมากขึ้น ที่ชาวบ้านชอบเรียกว่า เป็นขนเม่น นั่นแหละครับ แล้วก็ชอบโทษว่าพันธุ์ไม่ดี คือทะลายที่ผลลีบฝ่อ มีสาเหตุหลักดังนี้ 4.1 การคัดต้นกล้า ปาล์มน้ำมันเป็นพืชลูกดก ทะลายหนึ่งอาจมีผลปาล์มได้ตังแต่ หลายร้อยจน ถึง 2000 ลูก เลยทีเดียว และด้วยความเป็นพืชลูกผสม หรือพืชลูกครึ่ง ดังนั้นต้นกล้าจะมีลักษณะไม่พึงประสงค์ติดมาเยอะ จำเป็นต้องคัดทิ้งต้นผิดปกติเหล่านี้ทิ้ง ตามหลักวิชาการ ต้องคัดทิ้งกันราวร้อยละ 15-20 เลยทีเดียว แต่เราอาจเจอข้อยกเว้นดังนี้ - ต้นกล้า หลงคัดมา คือเก่งแค่ไหนเวลาคัดทิ้งต้นกล้าผิดปกติก็มีอากาศพลาดได้ร้อยละ 5 เป็นมาตรฐานสากลครับ - คนคัดไม่เก่ง คัดไม่เป็น ไม่คัดให้เข้มงวด หรือเจตนาคัดทิ้งแต่ต้นที่ดูไม่ได้จริงๆ พวกนี้ต้นผิดปกติก็จะติดมาในแปลงปลูกของเรามากขึ้น - ไม่มีการคัดกล้าเลย ประเภทบังคับว่าถ้าซื้อ ต้องเอาในแถวนั้นแถวนี้ อาจมีต้นผิดปกติ ติดมาในแปลงปลูกได้ถึง ร้อยละ 20 - รวมดาว คือแปลงเพาะบางแห่งโกงชาวบ้าน ด้วยการเอาต้นกล้าที่คัดทิ้ง แต่หน้าตาพอดูได้มารวมๆ กัน ให้ดูเหมือนต้นกล้าสม่ำเสมอ วิธีนี้ทำให้เราแยกแยะไม่ออก ถ้าเจอแบบนี้แล้วแต่ระดับความโชคร้ายของผู้ซื้อ ผมเคยเจอแปลงปลูกอยู่ 2-3 ราย ที่โดนโกงแบบนี้ ทั้งแปลงมีต้นที่พอดูได้อยู่แค่ 2-3 ต้น เจ้าของแปลงน้ำตาตกใน ดังนั้นเลือกซื้อจากแปลงเพาะที่เชื่อถือได้เอาไว้ก่อนนะครับ 4.2 สภาพแวดล้อมในแปลงปลูก ทั้งดิน น้ำ และอากาศ ล้วนแต่มีผลทั้งสิ้น ทั้งในแง่การเจริญเติบโต และการให้ผลผลิต - ดิน ถ้าดินแน่น ดินเสื่อม ระบายน้ำไม่ดี น้ำซึมผ่านไม่ดี ปาล์มจะโตช้า ไม่ดก และทำลายไม่ใหญ่ ในช่วงแล้งทะลายจะลีบฝ่อได้ง่ายมาก หรือพื้นที่ดินทรายจัด ขาดน้ำเร็วก็จะเจอปัญหาเช่นเดียวกัน - น้ำ น้ำน้อยเกินไป ไม่พอยาไส้ ผลปาล์มลีบฝ่อแน่นอนครับ ขาดทั้งน้ำทั้งปุ๋ย เพราะพืชทุกชนิดต้องอาศัยน้ำละลายปุ๋ยก่อนจึงจะกินปุ๋ยได้ครับ พื้นที่ฝนทิ้งช่วงนานกว่า 3 เดือนขึ้นไป จึงควรหาทางรดน้ำให้ได้ครับ แล้วแต่ความเหมาะสมของพื้นที่ แหล่งน้ำและเงินทุน - อากาศ นี่ครอบคลุมหมด ทั้งลมที่ไม่แรงเกินไป เพราะถ้าลำต้นบริเวณยอดหักต้นปาล์มตายแน่นอน นอกจากที่พูดถึงไปแล้วในตอนต้น หากอากาศแปรปรวนมาก เช่น แล้งจัด ฝนตกหนักต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ใส่ปุ๋ยไม่ได้ก็มีผลกับทะลายและผลปาล์ม และความดกในอีกสามปีข้างหน้าลดลงดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น 4.3 ใส่ปุ๋ยไม่เพียงพอ หรือใส่ผิดสัดส่วนที่ปาล์มต้องการ นี่คือประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่สุดสำหรับบ้านเรา หากเราเลือกปลูกในพื้นที่เหมาะสม ปุ๋ยเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุด และเป็นเรื่องที่อธิบายได้ยุ่งยากทีสุดเรื่องหนึ่ง เรามาคิดกันแบบง่ายๆ ดูนะครับ ร่างกายเราทุกส่วนตั้งแต่เส้นผมจรดปลายเล็บเท้าก็ล้วนแล้วแต่สร้างขึ้นจากสารอาหารทั้งสิ้น(ไม่นับประเภทต่อผม ต่อเล็บนะครับอันนั่นเป็นอุปกรณ์เสริมความงาม 555) ต้นไม้ก็เช่นเดียวกัน ทุกชิ้นส่วนตั้งแต่ปลายยอดลงมาจนถึงปลายรากสร้างจากสารอาหารที่ได้เราเรียกว่าปุ๋ยที่ผ่านการสังเคราะห์แสงทั้งสิ้น ยิ่งปาล์มน้ำมันซึ่งให้ทะลายมากยิ่งต้องใช้ปุ๋ยมากเป็นเงาตามตัว การใส่ปุ๋ยอย่างถูกต้องจึงจำเป็นมาก ไม้ผลก็เป็นทำนองเดียวกันครับ แต่เนื่องจากมีการแต่งลูกออกไปบ้าง ดังนั้นจึงมักมองไม่เป็นความสำคัญของการใช้ปุ๋ยให้ถูกสัดส่วนกันเท่าไหร่ ปุ๋ยบางยี่ห้อเขาทำตลาดไว้ดีทำให้ชาวบ้านพลอยยึดติดกับปุ๋ยสูตรสำเร็จทั้งหลาย ขนาดที่ว่าถ้าไม่ใส่ยี่ห้อนี้ถึงกับนอนไม่หลับกันทีเดียว โปรดระลึกเสมอว่าปาล์มต้องการปุ๋ยโพแทสเซียมในปริมาณสูงมาก และจำเป็นต้องใส่ตั้งแต่แรกปลูกไปจนถึงก่อนโค่นเลย ใครบอกว่าสามปีแรกยังไม่เอาลูกไม่ต้องใส่นี่ผิดถนัดครับ นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่หลายคนบอกว่าใส่ปุ๋ยดี ใส่ปุ๋ยมาก แต่ผลผลิตไม่ดี เอาไว้วันหลังจะมาเล่าให้ฟังเรื่องปุ๋ยแบบค่อนข้างละเอียดอีกครั้ง เรื่องมันยาวครับ เผด็จ เลติกุล

วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การจัดการสวนปาล์มน้ำมันหลังน้ำท่วม

การจัดการสวนปาล์มน้ำมันหลังน้ำท่วม

ต้องขอแบ่งตามสภาพแบบเข้าใจง่ายๆ ดังนี้ครับ

1. พื้นที่ทั่วไป

ในพื้นที่ทั่วไปหากน้ำท่วมระยะสั้นๆ ไม่เกินสองสัปดาห์ เราไม่ต้องทำอะไรเป็นพิเศษ หลังจากชะงักช่วงสั้นๆ ต้นปาล์มก็สามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติ


2. พื้นที่ทั่วไป แต่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม
พื้นที่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งที่อาจมีสารเคมีแปลกปลอมมากับน้ำด้วย เช่น โรงงานผลิตน้ำส้มฆ่ายาง โรงงานผลิตแบตเตอรี่ เป็นต้น อาจมีกำมะถัน หรือกรด ละลายมากับน้ำได้ สภาพนี้จะเป็นน้ำกรด ความเข้มข้นขึ้นกับปริมาณสารเคมีที่ละลาย หลังน้ำลดต้องรีบใส่ปูนขาวโดยเร็ว

ส่วนพื้นที่ที่อาจมีสารเคมีประเภทด่าง ก็ต้องใช้น้ำส้มสายชูละลายน้ำไปรดรอบทรงพุ่มเป็นต้น

พื้นที่ประเภทนี้ ทางที่ดีควรขอให้ "หมอดินอาสา" ช่วยวัดความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้ก่อน จะได้ประเมินได้ง่ายขึ้น

3. พื้นที่ลุ่มลึก หรือบางปีที่น้ำท่วมขังนาน
หลังน้ำลดสัก 1-2 สัปดาห์ ให้หาปูนขาว หรือโดโลไมต์ มาโรยบางๆ รอบทรงพุ่ม เพื่อปรับสภาพดินก่อน จากนั้นถัดไปราว 2 สัปดาห์ ถ้าเป็นไปได้ให้หาขี้วัว หรือปุ๋ยหมักที่ได้ที่แล้ว ถ้าเป็นขี้ไก่หรือขี้หมู หรือสัตว์อื่นๆ ก็ต้องเปื่อยดีแล้ว จึงนำมาใส่ โดยโรยรอบทรุงพุ่มให้พ้นปลายใบไปเล็กน้อย ถัดไปอีก 2-3 สัปดาห์จึงไล่ปุ๋ยเคมีได้ แต่ให้ใส่ทีละน้อยและเพิ่มความถี่แทน เช่น เดือนละครั้ง หรือ 2 เดือนครั้ง จากนั้นจึงไล่ปุ๋ยตามปกติ
*** ห้ามเร่งด้วยการใส่ปุ๋ยเคมีมากกว่าปกตินะครับ ไม่งั้นอาจเสียหายรุนแรง หรือตายเรียบทั้งสวนเลย

นอกจากนั้นเรายังแบ่งออกได้เป็นดังนี้

3.1 ปาล์มแรกปลูก หรือปาล์มอายุน้อยยังไม่ให้ผลผลิต

แบ่งย่อยตามลักษณะการจัดการ
- ก่อนน้ำท่วมไม่ได้ใส่ปุ๋ยเคมี โอกาสต้นปาล์มจะรอดมีอยู่มากครับ เพียงแต่จะชะงักนาน จนกว่าระบบรากจะสร้างได้เต็มที่แล้ว ต้นปาล์มก็จะกลับมาเจริญเติบโตได้ตามปกติ

- ก่อนน้ำท่วมใส่ปุ๋ยเคมี ยิ่งกระชั้นชิดก่อนน้ำมท่วมเท่่าไหร่ โอกาสรอดยิ่งน้อยครับ

อย่างไรก็ตาม อย่าด่วนสรุปว่าต้นปาล์มเราไม่รอด ให้สังเกตจากใบปาล์มก่อน ดังนี้
- ใบแห้งหมดทั้งต้น และโคนต้นเปื่อยหมด อันนี้ถึงรอดก็คงโตช้าแล้ว ควรจะปลูกทดแทน
- ใบแห้งบางส่วน แต่ยังมีใบสีเขียวๆ ให้เห็น โคนต้นก็ยังแข็ง ลักษณะนี้โอกาสรอดสูงมาก หากยอดเน่าเปื่อย(ส่วนใหญ่) ก็ให้ถอดยอดที่เน่าออก เอาปูนขาวโรยบางๆ ลงไปในยอด อาจใช้เวลาหลายเดือนกว่ายอดใหม่จะโผล่ออกมาให้เห็น ให้ใจเย็นๆ ถ้ายังไม่แห้งหมดทั้งต้นโอกาสรอดยังมี
- ส่วนถ้ายังเขียวสดชื่นก็ไม่น่ากังวล ให้จัดการตามที่แนะนำข้างต้นครับ

3.2 ปาล์มเริ่มให้ผลผลิต แต่ืทะลายยังไม่พ้นน้ำ หรือทะลายพ้นน้ำบางส่วน
ให้แต่งดอกและทะลายที่แช่น้ำแล้วดอกหรือผลเน่าออกให้หมด เว้นไว้แต่ดอกที่สมบูรณ์ หากมีใบที่แห้งจนถึงโคนทางใบก็สามารถแต่งทางที่เสียหายทิ้งได้ ถ้าโคนทางใบยังสดอยู่ก็เว้นเอาไว้
หลังจากนั้นก็ทำตามขั้นตอนที่กล่าวข้างตัน

3.3 ปาล์มที่ทะลายสูงกว่าระดับน้ำ
หากทะลายไม่เสียหาย ไม่มีทีท่าว่าจะผลปาล์มจะลีบแห้ง ก็ทำตามขั้นตอนที่กล่าวข้างตันได้เลย


หลังผ่านวิกฤติน้ำท่วม เราต้องใจเย็น รอให้ต้นปาล์มสร้างระบบรากให้เต็มที่ก่อน จากนั้นต้นจะฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ แ่ต่ความเสียหายต่อผลผลิตจะยาวนานเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับระดับความเสียหายครับ ดังนั้น ไม่มีปุ๋ยวิเศษชนิดไหนจะช่วยเร่งต้นเร่งผลผลิตให้ท่านได้ อย่าได้หลงเชื่อคำโฆษณาทั้งหลายโดยง่าย ต้นปาล์มต้องสร้างระบบรากและต้นแข็งแรงเต็มที่ก่อน จึงจะกลับมาให้ผลผลิตได้ตามปกติ หลังจากทำตามขั้นตอนที่กล่าวมาแล้ว ก็รอเวลาเท่านั้นเองครับ ความใจร้อนมีแต่จะทำให้เสียเงินเพิ่มโดยใช่เหตุ

วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2552

เคล็ดลับการจัดการสวนปาล์มน้ำมัน

เคล็ดลับการจัดการสวนปาล์มน้ำมัน

ปัจจัยสำเร็จในการปลูกปาล์มน้ำมัน
1. ดิน สามารถปรับปรุงได้ แต่ต้องใช้เวลา
2. น้ำ สามารถจัดการได้
3. แสงแดด อุณหภูมิ ความชื้นในบรรยากาศและสภาวะแวดล้อมอื่นๆ ไม่สามารถควบคุมได้ ต้องเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมจริงๆ การจัดการทำได้เฉพาะการจัดผังปลูกเท่านั้น
4. พันธุ์ปาล์ม ปัจจุบันต้องใช้ลูกผสมเทเนอรา (DxP) เท่านั้น
5. การดูแลรักษา มีความสำคัญที่สุดเท่ากับความสำคัญเรื่องพันธุ์

การเตรียมพื้นที่ปลูก
เจ้าของที่ต้องรู้ลักษณะดิน และลักษณะน้ำท่วมหรือน้ำท่วมขังในแปลงปลูกของตัวเองก่อนจึงจะสามารถเตรียมพื้นที่ได้เหมาะสม
- น้ำไม่ท่วม หรือท่วมขังไม่เกิน 10 วัน ปลูกได้เลย
- น้ำท่วมขังผิวดิน ไม่เกิน 20 วัน ระดับน้ำไม่สูงนัก ไถสาดร่องก็เพียงพอ
- น้ำท่วมขังนาน ระดับน้ำสูง หรือที่ลุ่มลึก ควรยกร่องให้ถูกต้อง คือ ปลูก 2 แถวต่อ 1 ร่อง จัดให้แถวปาล์มห่างจากร่องน้ำราว 2.5 เมตร

การวางผังปลูก
การวางผังปลูกแบบสามเหลี่ยมด้านเท่าหรือแบบสลับฟันปลาจะได้ต้นปาล์มเต็มเนื้อที่ที่สุด ส่วนการจัดแถวปลูกแบบสี่เหลี่ยมด้านเท่าสะดวกต่อการจัดการมากกว่า มีการแก่งแย่งอาหารและแสงแดดน้อยกว่า
1. จัดระยะระหว่างต้นในแนวทิศ เหนือ-ใต้
2. ระยะห่างระหว่างต้นขึ้นกับความเหมาะสมของพันธุ์ปาล์มแต่ละพันธุ์ (สำหรับประเทศไทยควรเพิ่มระยะจากที่แนะนำในต่างประเทศอีก 1 เมตร)

การเตรียมหลุมปลูก
ขึ้นกับความเหมาะสมของดินในแต่ละแห่ง เช่น ดินร่วนไม่จำเป็นต้องขุดหลุมกว้าง เป็นต้น รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือ ร็อกฟอสเฟต(0-3-0)

วิธีการปลูก
ตามสะดวก แต่ที่สำคัญคือห้ามกลบโคนเด็ดขาด เราสามารถป้องกันต้นล้มโดยใช้ไม้ “ม็อบ” ขัดระหว่างกาบใบกับโคนต้น การปลูกซ่อม สามารถปลูกซ่อมได้จนต้นปาล์มในแปลงปลูกอายุไม่เกิน 3 ปีเต็ม

การให้ปุ๋ย
หลัก 4 ประการเหมือนกันกับพืชทุกชนิดคือ
1. ถูกสูตร คือ เหมาะกับความต้องการของพืชแต่ละชนิด
2. ถูกที่ คือ ใส่ในบริเวณที่รากหากินอยู่หนาแน่น เพราะรากพืชแต่ละชนิดการแผ่ขยายรากแตกต่างกันไป
3. ถูกเวลา คือ ช่วงแล้ง หรือฝนตกหนักให้งดใส่ปุ๋ย
4. ถูกปริมาณ คือ กะปริมาณปุ๋ยให้เหมาะกับอายุของพืช และแบ่งใส่ให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2552

การจัดการสวนปาล์มน้ำมัน

เมื่อจะปลูกปาล์มน้ำมัน คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญเรื่องพันธุ์ปาล์มน้ำมันกันมาก ในปัจจุบันหากหาข้อมูลกันมาบ้างแล้วแน่นอนว่าทุกคนมุ่งหาพันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมDxP(อ่านว่า : "ดีคูณพี" ครับ) หรือ เทเนอรา กัน แล้วแต่ว่าจะได้ยี่ห้อะไรกันมา เมื่อปลูกเสร็จก็แล้วกัน บางคนตั้งแต่ก่อนปลูกจนกระทั่งปลูกเสร็จไม่เคยเข้าสวนปาล์มตัวเองเลยสักครั้งด้วยซ้ำ ลองคิดดูแล้วกันว่าจะเอาดีได้หรือไม่

ความจริงการจัดการหรือการดูแลสวนปาล์มน้ำมันนั้นมันเริ่มตั้งแต่ก่อนปลูกแล้วละครับ
1. ปรับสภาพพื้นที่ให้พร้อมที่จะปลูกปาล์มน้ำมัน พูดหยาบๆ คือ ทำไงก็ได้ให้ระดับน้ำต่ำกว่าระดับผิวดินอย่างน้อย 50 เซนติเมตร แต่ไม่ควรเกิน 1 เมตร
2. รู้ระยะปลูกที่เหมาะสม ทุกวันนี้แนะนำกันตะพึดตะพือ คือ 9 เมตร ซ้ำยังมีหลายเห่งที่แนะนำระยะปลูกน้อยกว่า 9 เมตรด้วยซ้ำ เท่าที่สำรวจแปลงปลูกปาล์มน้ำมันมากว่า 10 ปี ในหลายจังหวัด พบว่ามีปัญหาทุกพันธุ์ เพราะระยะปลูกน้อยเกินไป ทำให้ทางใบสานกันแ่น ต้นปาล์มสูงเร็วมากและให้ผลผลิตน้อยกว่าปกติ แม้กระทั่งปาล์มทางสั้นที่แนะนำให้ปลูกระยะ 9 เมตร ก็มีปัญหา ใครสนใจผมสามารถพาไปดูได้ถึงแปลงปลูก ไม่ใช่พูดกันแต่เขาว่า เขาว่า อย่าลืมว่าปาล์มน้ำมันจะเจริญเติบโตเต็มที่ คือ ทางใบยาวเต็มที่ ทะลายใหญ่เต์มที่อย่างเร็วคือปลูกไปแล้ว 6 ปี ปัญหาว่าปลูกไป 4 ปีแรก ทางใบมันจะดูสั้นๆ ทุกพันธุ์ละครับกว่าจะรู้ตัวว่าปลูกชิด อย่างเร็ว คือ ปีที่ 6 แต่ถ้าเจ้าของไม่เอาใจใส่ก็ไม่มีทางรู้เลย จนกว่าจะถึงปีที่ 9 หรือ 10 ที่แทบจะไม่มีีทะลายให้เชยชม นี่คือความเป็นจริงในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง เพราะขายกันแล้วก็แล้วกัน ไม่ได้ตามไปดูในแปลงปลูกให้ จึงแนะนำว่าควรปลูกระยะ 10 เมตร หากดินดีอาจต้องใช้ระยะห่างมากกว่านี้ สูงสุดทีี่เคยเห็นคนกระบี่ปลูกกันคือ 13 เมตร ครับ อ้อ ปลูกแล้วไม่ต้องกังวลนะครับ ผมเทียบจากพันธุ์หนองเป็ดเทเนอรา ปลูกระยะ 9 เมตร เทียบกับกับระยะ 10 เมตร สภาพแวดล้อมใกล้เคียงกัน ดูแลดีด้วยกัน เมื่ออายุปาล์ม 6 ปีขึ้นไป เนื้อที่ปลูกเท่ากันตัดผลผลิตได้เท่ากันครับ แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ ระยะ 10 เมตร ใส่ปุ๋ยต่่อไร่น้อยกว่า ดูแลต้นน้อยกว่า แต่งทางน้อยกว่า และต้นปาล์มเมื่ออายุ 10 ปีนับจากวันลงปลูก มีส่วนสูงต่างกัน ประมาณ 1 - 1.5 เมตร ครับ นั่นแปลว่าแปลงที่ปลูกระยะ 9 เมตร ต้องโค่นก่อนแน่นอน
3. ปรับสภาพดินด้วยครับ ด้วยการใช้ปุ๋ยคอก เช่น มูลโค มูลไก่ มูลสุกร เป็นต้น หรือ ปุ๋ยหมัก หากต้องต้องซื้อตีว่ากิโลละไม่เกิน 8 บาท นี่ราคาพอรับได้ครับ ต้องปรับสภาพดินทุกปีครับ ส่วนธาตุอาหารหลัก ยังคงต้องพึ่งปุ๋ยเคมีเป็นหลักครับ เนื่องจากปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ออกลูกมากเพราะเราทำกันเชิงอุตสาหกรรม ใครคิดจะใส่ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกล้วนๆ ต้องใส่ต้นละประมาณ 1 ตัน/ปี ครับ จึงจะเพียงพอ คิดดูแล้วกันครับว่าต้นทุนจะสูงขนาดไหน
4. ใส่ปุ๋ยให้ถูกต้อง ตั้งแต่ถูกส่วน ถูกเวลา ถูกที่ หลักพื้นฐานคือ แบ่งใส่น้อยแต่ใส่บ่อยๆ จะดีกว่านานๆ ใส่แต่ใส่หนักๆ ครับ
- ถูกที่ การใส่ปุ๋ยที่ถูกต้องสำหรับปาล์มน้ำมัน คือ แรกปลูกใส่ห่างจากโคนประมาณ 1 คืบ เมื่อแตกพุ่มแล้ว ให้ใส่ราวๆ 1 ใน 3 จากปลายใบเข้าไป ไม่ว่าจะปุ๋ยเคมี หรือ ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมัก ครับ เพราะนั่นเป็นจุดที่เหมาะสมที่สุด ยกเว้นปุ๋ยโบเรต หรือ โบรอน ให้ใส่ที่ปลายใบครับ อย่าใส่ที่โคน หรือกาบใบเป็นอันขาด
- ถูกเวลา คือ ช่วงแล้ง หรือ ฝนตกหนัก ก่อนน้ำท่วมราว 2 เดือน ห้ามใส่ปุ๋ยเด็ดขาด ต้องใส่ช่วงที่ดินมีความชื้นพอสมควร มีฝนตกประราย
-ถูกส่วน ต้นไม้ทุกชนิดธาตุหลักที่เราต้องใส่ให้คือ ไนโตรเจน(N) ฟอสฟอรัส(P) และโพแทสเซียม(K) โดยพืชแต่ละชนิดต้องการในสัดส่วนของ N:P:K ที่ไม่เท่ากัน สำหรับปาล์มน้ำมันที่ให้ผลผลิตแล้วต้องได้สัดส่วนประมาณ 2:1:4 ถึง 3:1:7 ขึ้นกับสภาพแวดล้อมครับ
5. การแต่งทางใบ จำง่ายๆ ว่า ปลูกไปอย่างน้อย 36 เดือน จึงจะเริ่มแต่งทางใบได้ หลักเกณฑ์ง่ายๆ คือ ทะลายล่างสุดต้องมีทางเหลืออยู่ 2 ชั้น ภาษาสวนปาล์มเขาเรียก ทางเลี้ยง(ทางใบที่ติดกับทะลายป กับทางรับ ครับ ถ้าแต่งมากว่านี้ปาล์มจะโทรม นอกจากปาล์มที่ใช้เคียวแล้วเท่านั้นครับ จึงจะดแต่งเหลือแค่ทางเลี้ยงอย่างเดียว
6. อย่าใช้สารกำจัดวัชพืชประเภทดูดซึมเด็ดขาดครับ ต้นปาล์มจะชะงักการเจริญเติบโต

โปรดระลึกเสมอว่า การจัดการและการดูแลมีความสำคัญถึงร้อยละ 80 ทีเดียวครับ จะทำให้ดี หรือเลวสุดๆ ก็ยังได้ อย่าเชื่อคำโฆษณาครับ ผลงานในแปลงปลูกเป็นตัวประจานเจ้าของและพันธุ์ปาล์มครับ

ยังมีเรื่องปลีกย่อยอีกมากครับ มีข้อสงสัยปรึกษาเราได้ครับทีมงาน บริษัท เปา-รงค์ ออยล์ปาล์ม จำกัด อีเมล์ตรงๆ ได้ที่ nhongped@gmail.com ยินดีรับใช้ ไม่คิดตังค์ครับ